ภาษาไทย...สืบสานไว้และใช้อย่างรู้คุณค่า
ประกฤษฏิ์
ทองดอนดู่...เรียบเรียง
พ่อขุนรามคำแหงแห่งสยาม ปราชญ์งดงามตามประดิษฐ์คิดแก้ไข
ในอักษรให้มีอยู่คู่ชาติไทย รักษาไว้ใช้ให้ถูกปลูกจิตไทย
ความเป็นไทยโดดเด่นด้วยภาษา อักษราล้วนหลายหลากมากสดใส
เสน่ห์เสียงสูงต่ำคำกลอนไซร้ ร่วมสืบไว้สานคุณค่าภาษาไทยฯ
ภาษาไทยเป็นภาษาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาษาที่มีความไพเราะงดงามภาษาหนึ่งในโลก
เป็นภาษาที่เกิด จากอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี นับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นจวบจนปัจจุบัน
หากเราจะกล่าวว่า ภาษาไทย เป็นภาษาที่มีความงามและไพเราะที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก จากเหตุผลที่ว่า การที่ภาษาไทยมีเสียงพยัญชนะ และเสียงสระ ที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัว
น่าทึ่ง แล้วยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เปรียบเสมือนเสียงสูงต่ำแห่งดนตรี
อีกทั้งเรื่องความงดงามของภาษาที่มีการเลือกสรรคำมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ
ทั้งการเล่นคำ การหลากคำ การซ้ำคำ คำพ้อง คำผวน คำผัน การใช้โวหารต่าง ๆ และการใช้คำในการแต่งกลอนหรือแต่งคำประพันธ์
เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความมีเสน่ห์แห่งภาษาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันรักษาไว้
“... เราโชคดีที่มีภาษาเป็นของตนเองแต่โบราณกาล
จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ
อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้
หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย
ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ ...”
พระราชดำรัส
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการชุมนุมภาษาไทย
ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่
๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาในการใช้ภาษาไทย
จนกลายเป็นต้นกำเนิดของ “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้คนไทยภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติไทย
แสดงถึงความเป็นชนชาติที่มีภาษาเป็นของตนเอง ในขณะที่หลายประเทศในโลกนั้นไม่มีภาษาซึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ภาษาไทยถูกนำมาใช้อย่างผิด ๆ เกิดการสร้างคำแบบใหม่ มีการตัดคำและไม่มีกาลเทศะในการใช้คำ
แม้ว่าธรรมชาติของภาษาจะบอกว่า “ภาษาที่มีชีวิตนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง”
แต่ทว่าหากภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ เกรงว่าเอกลักษณ์ของชาติคงจะเสียหายและสูญหายไปในที่สุด
เพราะเหตุนี้ เราจึงควรร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง เพราะ “เราโชคดีที่มีภาษาไทยเป็นของตนเองและมีภาษาเป็นเอกลักษณ์ของชาติ”
คือแก่นแท้แลหัวใจไทยทั้งชาติ คือศิลป์ศาสตร์แห่งศักดิ์ศรีที่สืบสาน
คือลีลาลำนำคือคำกานท์ ประจักษ์จารขานค่าคำว่าไทย
คือลีลาลำนำคือคำกานท์ ประจักษ์จารขานค่าคำว่าไทย
วัฒนธรรมล้ำค่าศรัทธามั่น
ร่วมสร้างสรรค์ส่งเสริมทุกสมัย
เอกลักษณ์แห่งชาติประกาศไกร
เกิดเป็นไทยให้รู้ค่าภาษาตนฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น