วันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กลอนเกษียณอายุราชการ


กลอนสุภาพ
โดย...นายประกฤษฏิ์ ทองดอนดู่
ยก คุณครูปูชนีย์ที่เคารพ
ย่อง ยกพบความสุขทุกสถาน
เชิด คุณงามความดีมีทุกกาล
ชู ไพศาลเกียรติยิ่งสิ่งสุขใจ
ครู ผู้ก่อการศึกษามหาศาล
เกษียณ กาลผ่านเข้ามาคราสมัย
เวียน อวยพรอำลาด้วยอาลัย
บรรจบ ไซร้สบสุขทุกคืนวัน
                                ร่วมเชิดชูครูไทยด้วยใจมั่น
จิตสรรค์สร้างทางศึกษาค่ายิ่งใหญ่
เป็นดั่งเธียรคนเทิดเพลิดเพลินใจ
จดจำไว้ศิษย์น้อมนบเคารพครู
ขออัญเชิญพระไตรรัตน์มาปกป้อง
จงคุ้มครองรักษาค่าเคียงคู่
มีความสุขกายใจศิษย์ใคร่รู้
เชิดชูครูน้อมพรมาบูชาคุณ

แต่งกลอนในหนังสือ "วันแห่งเกียรติยศ" ๓๐ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการบุคลากรองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา

หน้า ๘๒

ภาษาไทย ภาษาศิลป์


ภาษาไทย ภาษาศิลป์
ประกฤษฏิ์ ทองดอนดู่...เรียบเรียง

เสน่ห์และสุนทรียภาพในภาษาไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมรดกความงามทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของคนไทยเรา คือความเป็นภาษาศิลป์ที่มีสุนทรียะผ่านทางระดับของเสียง (วรรณยุกต์) จังหวะสั้นยาว (สระ) ตลอดจนความหนักเบาหรือน้ำหนักของคำ (ครุ-ลหุ) อันทำให้สามารถก่อรูปฉันทลักษณ์ในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งสื่อแสดงอารมณ์ในเชิงวรรณศิลป์ได้มากมายหลายอย่าง ยากที่จะหาภาษาใด ๆ ในโลกมาเปรียบเทียบได้ ไม่เชื่อก็ลองอ่านหนึ่งในสุดยอดวรรณคดีไทยแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่ชื่อ “สามัคคีเภทคำฉันท์” ของท่าน “ชิต บุรทัต” ท่อนนี้ลองดู ความว่า
๏ เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร          ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน
ก็มาเป็น
บงเนื้อก็เนื้อเต้น                      พิศเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว                        ก็ระริกระริวไหว…..ฯลฯ
ท่อนแรกประพันธ์ในรูปอีทิสังฉันท์ ๒๐ ส่วนท่อนหลังคือ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  แต่ทั้งสองท่อน ต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความงามแห่งภาษาศิลป์ที่สะท้านสะเทือนอารมณ์ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย
นอกจากความเป็นภาษาวรรณศิลป์ที่ให้เสียงประดุจท่วงทำนองดนตรีโดยธรรมชาติแล้ว นิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยเราเองก็มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ภาษาไทยมีวิวัฒนาการสืบเนื่องต่อมาไม่หยุดยั้ง ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นเด่นชัดคือความนิยมในการพูดจาประสาสร้อยคำจนติดปาก เช่น หนังสือหนังหา เข้าอกเข้าใจ ไม่รู้ไม่ชี้ เวล่ำเวลา อาบน้ำอาบท่า ล้างมือล้างไม้ กินหยูกกินยา กระดูกกระเดี้ยว ฯลฯ หรือแม้แต่ภาษาปากประเภท กาฟงกาแฟ กินเกิน ร้องแร้ง นับแน้บ คิดเคิ้ด ฯลฯ คำเหล่านี้ล้วนจัดอยู่ในลักษณะของสร้อยคำซึ่งมีส่วนทำให้ภาษาไทยเป็นภาษาศิลป์ทั้งสิ้น
          ในที่นี้จะขอนำเสนอผลงานของนักเรียนซึ่งได้เรียนรู้ภาษาไทยและใช้ภาษาได้อย่างมีศิลป์ จากการประกวดแต่งคำประพันธ์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ศูนย์พัฒนากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการศึกษาจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๓๑ วันอังคารที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑  ทุนการศึกษา ๓,๐๐๐ บาท พร้อมเกียรติบัตร
ผลงาน   การแต่งอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  (๘ บท)
ชื่อเรื่อง  ดินขาดป่า ฟ้าขาดฝน คนขาดใจ
                                    โลกกว้างขจรไกล              นภใหญ่ประดับหล้า
                        พื้นดินบ่มีป่า                                พสุธามิสมบูรณ์
                        ขาดความอุดมทรัพย์                     ผิจะปรับจะเพิ่มพูน
                        ไทยเราสิเกื้อกูล                            ทำนุให้เจริญไป
                        ขาดฝนบ่ชุ่มฉ่ำ                             ดุจกรรมพนาไพร
                        แห้งแล้งแสลงใจ                          ชนไทยก็ทุกข์ทน
                        ไตร่ตรองคะนึงคิด                         ธุรกิจผิผิดผล
                        ตัดไม้ทำลายจน                            บ่มิเหลือและขาดแคลน
                        ขาดฝนก็ขาดป่า                           ธรรมดาจะหวงแหน
                        ปลูกกล้าและตอบแทน                  คุณป่าสิน่าชม
                        สมบูรณ์อุดมดิน                            พสุสินธุ์ระรื่นรมย์
                        เผ่าไทยมิตรอมตรม                       จะนิยมผลิผลดี
                        รักษ์น้ำและรักษ์ป่า                        ธ ประชาจะสุขขี
                        ป่าธรรมชาติมี                              คุณยิ่งจะเทียมทาน
                        ดินป่าและฟ้าฝน                           ยุวชนขนานนาน
                        สร้างโลกเจริญกาล                        อนุรักษ์ตลอดไปฯ
นางสาวกนกวรรณ  นาคกระโทก  ม. ๖/๑ โรงเรียนหนองยางพิทยาคม นครราชสีมา

*** อินทรวิเชียร (อิน ทระ วิ เชียน) ฉันท์ ๑๑  หมายความว่า ฉันท์ที่มีลีลาอันรุ่งเรืองงดงามประดุจสายฟ้าซึ่งเป็นอาวุธของพระอินทร์ ใช้สำหรับแต่งเรื่องโน้มน้าวจิตใจให้หวั่นไหว หรือบรรยายความ


วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560

ภาษาไทย ภาษาชาติ

  ภาษาไทย...สืบสานไว้และใช้อย่างรู้คุณค่า
ประกฤษฏิ์ ทองดอนดู่...เรียบเรียง

 
พ่อขุนรามคำแหงแห่งสยาม                  ปราชญ์งดงามตามประดิษฐ์คิดแก้ไข
ในอักษรให้มีอยู่คู่ชาติไทย                              รักษาไว้ใช้ให้ถูกปลูกจิตไทย
ความเป็นไทยโดดเด่นด้วยภาษา                       อักษราล้วนหลายหลากมากสดใส
เสน่ห์เสียงสูงต่ำคำกลอนไซร้                           ร่วมสืบไว้สานคุณค่าภาษาไทยฯ

          ภาษาไทยเป็นภาษาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาษาที่มีความไพเราะงดงามภาษาหนึ่งในโลก เป็นภาษาที่เกิด   จากอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดมาเป็นเวลาหลายร้อยปี นับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นจวบจนปัจจุบัน
          หากเราจะกล่าวว่า ภาษาไทย เป็นภาษาที่มีความงามและไพเราะที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก จากเหตุผลที่ว่า การที่ภาษาไทยมีเสียงพยัญชนะ และเสียงสระ ที่มีการผสมผสานกันอย่างลงตัว น่าทึ่ง แล้วยังมีเสียงวรรณยุกต์ที่เปรียบเสมือนเสียงสูงต่ำแห่งดนตรี อีกทั้งเรื่องความงดงามของภาษาที่มีการเลือกสรรคำมาใช้ในลักษณะต่าง ๆ ทั้งการเล่นคำ การหลากคำ การซ้ำคำ คำพ้อง คำผวน คำผัน การใช้โวหารต่าง ๆ และการใช้คำในการแต่งกลอนหรือแต่งคำประพันธ์ เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแสดงถึงความมีเสน่ห์แห่งภาษาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งเราทุกคนต้องช่วยกันรักษาไว้
          “... เราโชคดีที่มีภาษาเป็นของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบเป็นประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ ...”
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการชุมนุมภาษาไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๕
          แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาในการใช้ภาษาไทย จนกลายเป็นต้นกำเนิดของ วันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกให้คนไทยภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาติไทย แสดงถึงความเป็นชนชาติที่มีภาษาเป็นของตนเอง ในขณะที่หลายประเทศในโลกนั้นไม่มีภาษาซึ่งแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แต่ในปัจจุบันเราจะเห็นว่า ภาษาไทยถูกนำมาใช้อย่างผิด ๆ เกิดการสร้างคำแบบใหม่ มีการตัดคำและไม่มีกาลเทศะในการใช้คำ แม้ว่าธรรมชาติของภาษาจะบอกว่า ภาษาที่มีชีวิตนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ทว่าหากภาษาไทยเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ เกรงว่าเอกลักษณ์ของชาติคงจะเสียหายและสูญหายไปในที่สุด เพราะเหตุนี้ เราจึงควรร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทยและใช้ให้ถูกต้อง เพราะ เราโชคดีที่มีภาษาไทยเป็นของตนเองและมีภาษาเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

คือแก่นแท้แลหัวใจไทยทั้งชาติ      คือศิลป์ศาสตร์แห่งศักดิ์ศรีที่สืบสาน
คือลีลาลำนำคือคำกานท์                      ประจักษ์จารขานค่าคำว่าไทย
วัฒนธรรมล้ำค่าศรัทธามั่น                    ร่วมสร้างสรรค์ส่งเสริมทุกสมัย
เอกลักษณ์แห่งชาติประกาศไกร              เกิดเป็นไทยให้รู้ค่าภาษาตนฯ